วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การจำแนกกลุ่มของกล้วย


การจำแนกกลุ่มของกล้วย

การจำแนกกลุ่มของกล้วยทำได้ 2 วิธี คือ จำแนกตามวิธีการนำมาบริโภค และจำแนกตามลักษณะทางพันธุกรรม

การจำแนกตามลักษณะทางพันธุกรรม


หลังปี ค.ศ. 1955 นักวิชาการได้จำแนกพันธุ์กล้วยตามพันธุกรรมโดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัวกำหนดในการแยกพันธุ์ กล้วยที่นิยมบริโภคกันในปัจจุบันมีบรรพบุรุษเพียง 2 ชนิด คือ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมเป็น AA กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนมเป็น BB ส่วนกล้วยที่เกิดจากลูกผสมของกล้วยทั้ง 2 ชนิดจะมีจีโนมแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ซิมมอนด์และเชปเฟิดได้เสนอให้ใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยารวมทั้งหมด 15 ลักษณะ มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ สีของกาบใบ ร่องของกาบใบ ก้านช่อดอก ก้านดอก ออวุล ไหล่ของกาบปลี การม้วนของกาบปลี รูปร่างของกาบปลี ปลายของกาบปลี การซีดของกาบปลี รอยแผลของกาบปลี กลีบรวมเดี่ยว สีของดอกเพศผู้ สีของยอดเกสรเพศเมีย และสีของกาบปลี

การจำแนกตามวิธีการนำมาบริโภค

การจำแนกกล้วยตามวิธีการนำมาบริโภคสามารถแบ่งกล้วยออกเป็น 2 กลุ่มคือ กล้วยกินสด เป็นกล้วยที่เมื่อสุกสามารถนำมารับประทานได้ทันที โดยไม่ต้องนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน เพราะเมื่อสุก เนื้อจะนิ่ม มีรสหวาน เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว และกล้วยที่ใช้ประกอบอาหาร เป็นกล้วยที่เมื่อดิบมีแป้งมาก เนื้อค่อนข้างแข็ง เมื่อสุกยังมีส่วนของแป้งอยู่มากกว่ากล้วยกินสดมาก เนื้อจึงไม่ค่อยนิ่ม รสไม่หวาน ต้องนำมาต้ม เผา ปิ้ง เชื่อม จึงจะทำให้อร่อย รสชาติดีขึ้น เช่น กล้วยกล้าย กล้วยหักมุก กล้วยเล็บช้างกุด

ในพื้นที่ เช่น ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป ผลไม้สกุล Musa ที่วางจำหน่ายได้แบ่งเป็น "กล้วย" และ "กล้าย" บนพื้นฐานของการนำไปใช้เป็นอาหาร ดังนั้น ผู้ผลิตและชีกีตา (Chiquita) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายได้ผลิตวัสดุประชาสัมพันธ์สำหรับตลาดอเมริกาที่บอกว่า "กล้ายไม่ใช่กล้วย" ความแตกต่างนั้นคือกล้ายมีแป้งมากกว่าและหวานน้อยกว่า นิยมทานสุกกว่ากว่าทานดิบ มีเปลือกหนาสีเขียว เหลือง หรือดำ ซึ่งสามารถใช้บอกสถานะของความสุกงอมได้ ลินเนียสได้สร้างความแตกต่างระหว่างกล้วยและกล้ายดังกล่าวขึ้นเมื่อแรกตั้งชื่อ "สปีชีส์" ทั้งสองของ Musa สมาชิกของพันธุ์กล้วย "กลุ่มย่อยกล้าย" ที่เป็นอาหารที่สำคัญมากในแอฟริกาตะวันตกและละตินอเมริกามีลักษณะยาวแหลม ซึ่งมันได้รับการจำแนกว่าเป็นกล้ายแท้โดยพลอตซ์และคณะ (Ploetz et al.) ต่างจากกล้วยที่ใช้ประกอบอาหารพันธุ์อื่น กล้ายที่สูงแอฟริกาตะวันออก (East African Highland banana) ซึ่งเป็นกล้วยที่ใช้ประกอบอาหารในแอฟริกาตะวันออกนั้น จัดอยู่ในกลุ่มอื่น ดังนั้น จึงไม่มีคุณสมบัติเป็นกล้ายแท้ตามคำนิยามนี้
แนวทางหนึ่งที่จะแบ่งกล้วยออกเป็นกล้วยกินสดและกล้วยที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งกล้ายเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของกล้วยที่ใช้ประกอบอาหาร คือ พันธุ์ปลูก triploid กำเนิดมาจาก M. acuminataเพียงลำพังจะเป็นกล้วยกินสด ในขณะที่ พันธุ์ปลูก triploid ที่เป็นลูกผสมระหว่าง M. acuminata และ M. balbinosa (โดยเฉพาะกลุ่มย่อยกล้ายเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่ม AAB) เป็น "กล้าย" (ในที่นี้หมายถึงกล้วยที่ใช้ประกอบอาหาร)  เกษตรกรรายย่อยในประเทศโคลอมเบียปลูกพันธุ์กล้วยหลากหลายมากกว่าสวนเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ จากการศึกษาพันธุ์ปลูกเหล่านี้แสดงว่ากล้วยสามารถจัดกลุ่มได้อย่างน้อยสามกลุ่มตามพื้นฐานของลักษณะ ได้แก่ กล้วยกินสด กล้วยที่ใช้ประกอบอาหารที่ไม่ใช่กล้าย และกล้าย แม้ว่าจะมีการคาบเกี่ยวกันระหว่างกล้วยกินสดและกล้วยที่ใช้ประกอบอาหาร
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์กลางความหลากหลายของกล้วย ทั้งกล้วยป่าและกล้วยพันธุ์ ความแตกต่างระหว่าง "กล้วย" และ "กล้าย" กลับไม่มีความหมาย ตามข้อมูลของวาลมาเยอร์ (Valmayor) และคณะ กล้วยหลายพันธุ์ใช้ทั้งรับประทานสดและประกอบอาหาร กล้วยที่ใช้ประกอบอาหารที่มีแป้งมีขนาดเล็กกว่ากล้วยรับประทานสด ช่วงสี ขนาด และรูปทรง หลากหลายกว่ากล้วยที่ปลูกหรือขายในแอฟริกา ยุโรป หรืออเมริกา ภาษาเรียกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่บ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่าง "กล้วย" และ "กล้าย" เหมือนอย่างในภาษาอังกฤษ (และภาษาสเปน) ดังนั้น ทั้งพันธุ์กล้วยหอมเขียว (Cavendish banana) ซึ่งเป็นกล้วยรับประทานสดที่รู้จักกันดี และพันธุ์กล้วยหิน (Saba banana) ที่นิยมใช้ประกอบอาหาร ถูกเรียกว่า pisang (ปีซาง) ในประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย, กล้วย ในประเทศไทย และ chuoi (ชวย) ในประเทศเวียดนาม กล้วยเฟอิ (Fe'i banana) ที่ปลูกและรับประทานในหมู่เกาะของมหาสมุทรแปซิฟิก มีต้นกำเนิดที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากกล้วยโบราณและกล้าย กล้วยเฟอิส่วนมากจะใช้ประกอบอาหาร แต่กล้วยคาแรต (Karat banana) ที่มีลักษณะสั้นป้อม มีเปลือกสีแดงสดต่างจากกล้วยรับประทานสดทั่วไป ใช้กินสด
รุปแล้ว ในเชิงพาณิชย์ในยุโรปและอเมริกา (แม้ไม่จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก) ได้แยกความแตกต่างระหว่าง "กล้วย" ซึ่งรับประทานสดและ "กล้าย" ที่ใช้ประกอบอาหาร ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีกล้วยหลายชนิด และไม่มีการแยกความแตกต่างระหว่างกล้วยทั้งสองกลุ่ม และไม่มีการแยกคำในภาษาถิ่น กล้ายเป็นหนึ่งในกล้วยหลายชนิดที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งไม่แตกต่างจากกล้วยรับประทานสด